มาต่อกันในช่วงหลังของพิธีการในงานแต่งงานช่วงเย็น มีอะไรต่อบ้าง ติดตามกันได้เลยครับ
หลังจาก พิธีการงานแต่ง Part.1 ทิ้งท้ายไว้ในส่วนของช่วง ประธาน ญาติผู้ใหญ่ กล่าวอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาว ต่อมาก็จะเป็นช่วงพิธีการตัดเค้ก ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีหลากหลายรูปแบบครับ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการตัดเค้กเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการรินเเชมเปญ หรือแม้กระทั่งการรดน้ำต้นไม้ซึ่งเป็นไอเดียประยุกต์ที่ดูทันสมัยขึ้นมาอีกแบบครับ
ในบทความนี้ขออนุญาติยกตัวอย่างเฉพาะการตัดเค้กซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานของช่วงพิธีการนี้นะครับ ในส่วนของการรินแชมเปญและการรดน้ำต้นไม้จะพูดถึงอีกครั้งในบทความต่อๆไปครับ
ช่วงพิธีการตัดเค้ก
ในช่วงนี้ก็จะเริ่มจากพิธีกรกล่าวเชิญคู่บ่าวสาวสู่โต๊ะที่จัดวางเค้กไว้
โดยเริ่มจากการจุดเทียนที่เชิงเทียน
จากนั้นจึงทำการตัดเค้กโดยใช้กระบี่ที่ทางสถานที่เตรียมไว้ให้
เพื่อจำลองการตัดเค้กและทำการถ่ายรูป เมื่อเสร็จสิ้นเรียบร้อย ขั้นต่อไปคู่บ่าวสาวนำเค้กไปมอบให้แก่แขก, ญาติผู้ใหญ่ภายในงานครับ ส่วนรูปแบบของตัวเค้กที่ใช้ในพิธีการนั้นน มีทั้งแบบ เค้กจำลอง (Mock-Up), เค้กจำลองบางส่วน ชั้นล่างเป็นเค้กจริง, และคัพเค้ก ขึ้นอยู่กับงบประมาณและไอเดียของแต่ละคู่ครับ
เค้กจำลอง Mock-Up
เค้กแบบ คัพเค้ก
ความแตกต่างของเค้กจำลองและเค้กแบบคัพเค้ก
เค้กจำลอง Mock-Up
– ถ่ายรูปออกมาสวยครับ ให้ฟิลลิ่งที่เหมือนเค้กจริง
(แนะนำว่าควรเช็คสภาพของเค้กจำลองของสถานที่หรือฝ่ายที่จัดงานนั้นๆ จากประสบการณ์ของผู้เขียนไปเจอ
มาบางครั้งสภาพเค้กดูไม่ได้เลยจริงๆครับ ตัวเค้กมีรอยดำ บางจุดแหว่ง เนื่องจากส่วนใหญ่ตัวเค้กจะทำจากโฟม ควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนนะครับ)
– ตกแต่งง่ายตามต้องการ ไม่ว่าจะต้องการกี่ชั้น มีพื้นที่ของตัวเค้กให้เลือกตกแต่งได้มากกว่า ในราคาที่ไม่สูงเท่า
เค้กจริง (ในกรณีเค้กจำลองผสมเค้กจริงก็จะมีราคาสูงขึ้นมาอีกหน่อยแต่ก็ไม่เท่าเค้กจริงทั้งหมด)
เค้กแบบคัพเค้ก
– ถ่ายรูปออกมารายละเอียดอาจจะไม่เท่าเค้กจำลอง ข้อนี้ขึ้นอยู่กับการจัดวางและความชอบของแต่ล่ะคู่ครับ
– สะดวกสำหรับจัดใส่จานเพื่อนำเค้กไปมอบให้กับแขกและญาติผู้ใหญ่ภายในงาน
– พื้นที่สำหรับตกแต่งตัวเค้กน้อย
** ในช่วงหลังจากตัดเค้กเสร็จเรียบร้อยควรมีผู้ช่วยไม่ว่าจะเป็นทางเพื่อนของคู่บ่าวสาวเอง หรือบุคลากรของสถานที่นั้นๆ ในการนำเค้กแต่ละให้คู่บ่าวสาวเพื่อนำไปมอบให้แขกแต่ละโต๊ะ อย่างรวดเร็วและราบรื่น มีบางงานที่ผู้เขียนพบเจอหลังจากคู่บ่าวสาวตัดเค้กเสร็จเเล้วไม่มีผู้ช่วยจัดเค้ก คู่บ่าวสาวต้องเดินไปเดินมาเองระหว่างโต๊ะญาติผู้ใหญ่กับโต๊ะเค้กบนเวทีทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมาก
นี่คือรายละเอียดคร่าวๆของตัวเค้กที่ใช้ในช่วงพิธีการนะครับ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ขนมอย่างอื่นแทนเค้กได้อย่างเช่น ขนมไทยต่างๆ แล้วแต่ไอเดียของแต่ละคู่ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ครับ
——————————————————————–
ช่วงที่คู่บ่าวสาวกำลังเดินสู่โต๊ะที่ตั้งเค้กไว้ ก็จะเป็นคิวของอุปกรณ์สร้างบรรยากาศต่างๆ ซึ่งโดยทำไปแล้วจะมีอุปกรณ์หลักๆดังนี้ ครับ
เครื่องทำดรายไอซ์
ข้อดี
– ครอบคลุมพื้นที่ได้มาก สร้างบรรยากาศภายในงานได้เป็นอย่างดี นิยมใช้ในช่วงเปิดตัวด้วยเช่นกัน
– สะดวกต่อการถ่ายรูปของช่างภาพ ถ่ายรูปออกมาสวย
ข้อเสีย
– มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการเช่าใช้แต่ละครั้ง
– ในบางรายอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้น
* ไม่นิยมใช้เครื่องทำสโม๊ค (Smog) เพราะมีกลิ่น และฟุ้งกระจายในอากาศมากกว่าดรายไอซ์ซึ่งจะลอยต่ำเลียบพื้น ทำให้การถ่ายรูปของช่างภาพยากมากขึ้นด้วย Smog จึงเหมาะกับงานแสดงโชว์ต่างๆ รวมถึงงานเลี้ยงสังสรรค์มากกว่าครับ
เครื่องทำสโมคอัตโนมัติ
———————————————————————
เครื่องเป่าฟองสบู่อัตโนมัติ
บางงานประยุกต์ให้ทางเพื่อนเจ้าบ่าวสาวใช้ปืนเป่าลูกโป่งยืนล้อมวงบริเวณโต๊ะที่ใช้ตัดเค้กแทนครับ ซึ่งทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันดังนี้ครับ
ข้อดี
– ได้ฟองสบู่มากกว่าปืนเป่าฟองสบู่ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วบริเวณมากกว่าหากวางตำแหน่งได้ถูกต้อง
– สะดวกสำหรับช่างกล้องในการถ่ายรูป ได้ภาพที่ออกมาสวยงาม
ข้อเสีย
– ต้องจัดวางในตำแหน่งให้ถูกต้อง เพราะไม่สามารถควบคุมทิศทางของฟองสบู่ได้ หากวางไม่ถูกตำแหน่งจะทำให้ฟองน้ำลอยไปไม่ถึงบริเวณพิธีการ
– ราคาสำหรับการเช่าแต่ละครั้ง อาจจะไม่คุ้มค่าเพราะใช้เเค่ช่วงเดียวระยะเวลาสั้นๆ (บางคู่อาจจะใช้ช่วงเปิดตัวด้วยก็ได้เช่นกัน แต่จะไม่ครอบคลุมเพิ่มในช่วงการเดินจากหน้าประตูส่วนเวทีครับ)
ปืนเป่าฟองสบู่
ข้อดี
– ได้ในเรื่องของความเป็นกันเองดูอบอุ่น เพราะมีเพื่อนคู่บ่าวสาวล้อมรอบ (อาจจะต้องมีธีมเครื่องแต่งกายสำหรับเพื่อนคู่บ่าวสาวเพื่อให้ดูกลมกลืนกันครับ)
– ราคาถูก
ข้อเสีย
– หากพื้นที่น้อย การที่ให้เพื่อนคู่บ่าวสาวมายืนล้อมรอบ จะทำให้ดูไม่เรียบร้อย แออัดและคับแคบมาก
– ค่อนข้างเลอะเทอะ เพราะจะมีน้ำจากฟองสบู่ไหลออกมาตลอดเวลาที่ทำการยิงฟองสบู่ออกมา
อุปกรณ์ที่กล่าวมาไม่ได้เป็นอุปกรณ์ตายตัวว่าจะต้องมีครบทุกอย่าง คู่บ่าวสาวสามารถเลือกบางอย่าง เพิ่มเติมหรือประยุกต์อุปกรณ์อื่นตามต้องการได้ครับ
ต่อมาจะกล่าวถึง ส่วนหนึ่งในช่วงตัดเค้กก็คือส่วนของดนตรี (ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีหรือการเปิดเพลง) โดยจะเริ่มตั้งแต่พิธีกรกล่าวเชิญคู่บ่าวสาวตัดเค้กจบ โดย เพลงช่วงพิธีการตัดเค้ก ที่แนะนำควรจะเป็นเพลงในจังหวะช้าหรือความเร็วปานกลาง ขึ้นอยู่กับคู่บ่าวสาวว่าอยากให้บรรยากาศออกมาในแนวโรแมนติคหรือว่าสดใส สนุกสนานครับ
ตัวอย่างการบรรเลงของวงดนตรีในช่วงการตัดเค้ก
การใช้เพลงจังหวะช้า
การใช้เพลงในจังหวะเร็วปานกลาง
ลักษณะการบรรเลงสำหรับวงดนตรีนั้นก็จะมีอยู่หลักๆ 2 รูปแบบในช่วงการตัดเค้กก็คือ
1.ใช้เพลงตามที่คู่บ่าวสาวต้องการ บรรเลงแบบมีผู้ร้องหรือบรรเลงเป็นทำนองตั้งแต่ต้นจนจบเพลง โดยอาจเพิ่มท่อนที่เป็นช่วงโซโล่ของเครื่องดนตรีที่เป็นเมโลดี้ เพื่อความยาวที่เพียงพอเริ่มตั้งแต่ช่วงคู่บ่าวสาวเดินไปที่โต๊ะเพื่อทำการตัดเค้กไปจนถึงคู่บ่าวสาวนำเค้กไปมอบให้แขก ญาติผู้ใหญ่ภายในงานเสร็จ จนคู่บ่าวสาวกลับขึ้นมาบนเวทีเพื่อเข้าสู่พิธีการช่วงต่อไป
2.ใช้เพลงตามที่คู่บ่าวสาวต้องการเช่นกัน บรรเลงแบบมีผู้ร้องหรือบรรเลงเป็นทำนองตั้งแต่ต้นจนจบเพลง เมื่อจบเพลงทำการขึ้นบทเพลงใหม่จนจบเพลงไปเรื่อยๆโดยเพลงที่ใช้จะมีจังหวะใกล้เคียงกันทั้งหมด จนคู่บ่าวสาวกลับขึ้นมาบนเวทีเพื่อเข้าสู่พิธีการช่วงต่อไป
ลักษณะการเปิดแผ่นเพลง
สามารถเลือกเพลงตามที่คู่บ่าวสาวต้องการ อาจใช้เป็นเพลงเวอร์ชั่นต้นฉบับแบบที่มีเสียงร้องหรือในเวอร์ชั่น คัฟเวอร์ (Cover.) ต่างๆ ซึ่งมีทั้งแบบมีเสียงร้องและบรรเลงโดยเครื่องดนตรีต่างๆ หลากหลายรูปแบบตามต้องการ หากต้องการความต่อเนื่องของเพลงควรตัดต่อเพลงให้เรียบร้อย แนะนำว่าควรใช้เพลงที่มีจังหวะใกล้เคียงกันเพื่ออารมณ์ที่ต่อเนื่องของบทเพลงและบรรยากาศครับ
ตัวอย่างการทำงานร่วมกัน ระหว่างอุปกรณ์สร้างบรรยากาศ “เครื่องทำดรายไอซ์” – “เครื่องเป่าฟองสบู่อัตโนมัติ ” และ “วงดนตรี”
เป็นยังไงบ้างครับ จบไปแล้วกับช่วงพิธีการตัดเค้ก ซึ่งอยู่ในช่วงเกือบท้ายๆ ของพิธีการทั้งหมดแล้ว บทความหน้าจะเป็นส่วนของ ช่วงพิธีโยนช่อดอกไม้กันนะครับ ส่วนใครยังไม่ได้อ่านในพิธีการช่วงแรกๆว่ามีอะไรบ้าง ไปที่นี่เลยครับ >> พิธีการงานแต่ง Part.1
ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะครับ
สิทธิกานต์ บัวทอง
Hua Ka Thi Band
2 thoughts on “งานแต่งงาน (งานเลี้ยงเย็น) มีพิธีการขั้นตอนอะไรยังไงบ้าง ? (Part.2)”